วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

การปลูกต้นหยก



การผลิตหยก ประกอบด้วยขั้นตอนหลักๆ 2 ขั้นตอน คือ:

1. การเตรียมต้นตอ:
ต้นตอ ใช้ต้นส้มเช้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia meriifolia Linn. syn. E. ligularia Roxb.อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 4-5 ฟุต เปลือกของลำต้นสีเขียว มียางมากเป็นพิเศษ ตอนเช้าจะมีรสเปรี้ยวจัดมาก ตอนสายรสเปรี้ยวจะลดน้อยลงทันที และตอนกลางวันรสเปรี้ยวจะหมดไป จึงเรียกว่าส้มเช้า ต้นส้มเช้าเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญงอกงามได้ดีกับดินทุกชนิด เดิมใช้ต้นส้มเช้าซึ่งมีลักษณะต้นเหลี่ยม แต่เนื่องจากต้นตอเหลี่ยม ใบจะเหลืองและร่วงง่าย และมักเป็นโรคที่ใบได้ง่าย โดยเฉพาะราสนิม และแคงเกอร์ เมื่อมีการพบต้นส้มเช้าตอกลมโดยบังเอิญแล้วนำมาทดลองเสียบดู ปรากฏว่าหยกเจริญเติบโตได้ดี และเร็ว ประกอบกับพบปัญหาที่ใบน้อยกว่าต้นเหลี่ยม ปัจจุบันจึงนิยมใช้ส้มเช้าต้นกลม

ตัด ยอดต้นส้มเช้า ให้ได้ขนาดสูงประมาณ 7-8 เซนติเมตร แล้วนำมาชำในวัสดุปลูก โดยใช้ดินใบก้ามปู 2 ส่วน แกลบ 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 0.5-1 ส่วน มะพร้าวสับเล็ก 0.5-1 ส่วน โดยนำส่วนผสมต่างๆ ผสมให้เข้ากัน รดด้วยวิตามิน บี 1 (อัตราส่วน 4-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร) พักไว้ 2-3 วัน ก่อนนำไปใช้ โดยฝังต้นตอลึกประมาณ 0.5 ของกระถาง ในช่วงฤดูหนาวการเจริญเติบโตจะช้ากว่าปกติ จะต้องปักชำต้นตอให้ลึกประมาณ 3/4 ของกระถาง และตัดยอดต้นส้มเช้าให้สูงกว่าปกติ หลังจากนั้นใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ต้นตอจะเจริญสูงขึ้น มีรากและต้นขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับต้นหยกที่นำมาเสียบ และได้ต้นตอสูงประมาณ 12-15 เซนติเมตร เผื่อไว้สำหรับตัดยอดออกอีกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ตอนเสียบหยก  ปัจจุบันจะมีแหล่งที่ปลูกต้นส้มเช้าเพื่อใช้เป็นต้นตอ โดยใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร ต้นส้มเช้า 1 ต้น จะผลิตได้ 20-30 ยอด สามารถตัดได้ทุกเดือน โดยส้มเช้าตอเดิมจะมีอายุให้ตัดยอดได้ประมาณไม่เกิน 5 ปี

2. การเสียบยอด:
ตัด ยอดต้นตอส้มเช้า แล้วผ่าต้นตอให้เป็นรูปตัว V หรือรูปลิ่มโดยมีดที่ใช้ต้องคม และควรจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนผ่า เลือกหยกแม่พันธุ์ที่ต้องการขยายมาเสียบยอด ควรเลือกต้นพันธุ์ที่หยกมีเนื้อใหญ่ สมบูรณ์ ถ้าจะให้ได้คุณภาพดี หยกควรมีลักษณะเป็นรูปพัด ไม่บิดงอ เพื่อจะได้ลักษณะที่ดีมีคุณภาพ และเนื้อหยกพัฒนาได้ดี โดยตัดเนื้อหยกเป็นรูปลิ่ม ขนาดกว้างของเนื้อหยกประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มาเสียบลงในต้นตอ ซึ่งหยกต้นพันธุ์ขนาดกว้าง 12 เซนติเมตร จะตัดนำไปเสียบยอดได้ประมาณ 8 ชิ้น ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร จะตัดได้ประมาณ 20 ชิ้น เมื่อเสียบยอดแล้วใช้เชือกฟางมัดให้แน่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เนื้อหยกจะยุบตัวง่าย เนื่องจากการขยายเยื่อเจริญเป็นไปได้ช้า ต้องมัดให้แน่นขึ้นให้กระชับ ไม่ให้อากาศแทรกเข้าได้ แต่ไม่ถึงกับต้องแน่นตึงเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อหยกที่เสียบเน่าได้ง่ายเช่นกัน

วิธีการผูกเชือก ให้แน่น ใช้เชือกฟางเส้นเล็กมัดต้นตอให้ชิดด้านใดด้านหนึ่ง นำเชือกอีกด้านหนึ่งดึงขึ้นมาพาดให้ชิดเนื้อหยก แล้วใช้นิ้วชี้กดเชือกที่พาดผ่านเนื้อหยกไว้ พร้อมกับใช้ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งพันรอบต้นตอหลายๆ รอบ ตรงบริเวณรอยเชื่อม จากนั้นจึงมัดปลายเชือกทั้งสองเข้าด้วยกันจนแน่น

การเสียบยอดหยก เนื้อใส จะต้องพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ ผิวหยกต้องไม่ช้ำ ต้องแต่งเนื้อหยกให้สวย มีดต้องคม เนื่องจากเกิดความเสียหายได้ง่าย จึงไม่สามารถผลิตจำนวนมากได้ แต่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการมาก ส่วนใหญ่จะผลิตได้ 10-20% ของผลผลิตทั้งหมด ความสามารถในการเสียบยอดต่อวัน ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เสียบได้ประมาณ 300-500 ยอด ต่อ 1 คน แล้วแต่ความชำนาญ

เมื่อเสร็จกระบวนการเสียบยอดเรียบร้อยแล้ว นำต้นที่เสียบยอดเรียบร้อยแล้วไปไว้ในตู้อบพลาสติกที่ปิดมิดชิด อบไว้ประมาณ 7-10 วัน หากวันที่ไม่มีแดด หรือแสงแดดน้อยจะเปิดไฟให้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับแสง เนื้อเยื่อหยกที่นำมาเสียบจะได้ติดเร็วขึ้น จากนั้นนำไปวางไว้ใต้ตาข่ายพรางแสง 60% จะทำให้เนื้อหยกไม่หยาบกร้าน ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จึงตัดเชือกที่ผูกออก หรือถ้าไม่อบในตู้พลาสติก เมื่อเสียบยอดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะใช้ถุงพลาสติกคลุมแต่ละต้น ใช้ที่เย็บกระดาษเย็บ วางไว้ใต้ตาข่ายพรางแสง 80% ประมาณ 7-10 วัน แล้วแกะถุงพลาสติกออก รอไว้อีกประมาณ 2-3 วัน จึงตัดเชือก แล้ววางไว้ใต้ตาข่ายพรางแสง 80% อีกประมาณ 2 สัปดาห์ จึงค่อยนำออกไปเลี้ยงใต้โรงเรือนตาข่ายพรางแสง 60% ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง จะได้ขนาดหยกกว้าง 12-14 เซนติเมตร เรียกว่า size 1 หรือใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะได้ขนาดหยกกว้าง 15-17 เซนติเมตร เรียกว่า size 2

1 ความคิดเห็น:

  1. หากจะหาข้อมูลเริ่มการปลูก สามารถแนะนำงานวิจัยหรือหนังสือได้หรือเปล่าค่ะ

    ตอบลบ